ภูกระดึง ปฐมบทของนักเดินป่า

ที่ภูกระดึงเปิดให้เข้าเที่ยวชมเฉพาะในช่วงเดือนตุลาคมถึงเดือนพฤษาคมเท่านั้น แค่ 7 เดือนนี้ เราก็ได้เห็นภูกระดึงครบทั้ง 3 ฤดูแล้วครับ ช่วง ตค.-พย ยังอยู่ในช่วงหน้าฝน เดือน ธันวา-มกราจะเริ่มเข้าหน้าหนาวเดินง่ายไม่ค่อยมีทาก อากาศหนาวมาก คนค่อนข้างเยอะส่วนใหญ่ไปดูใบเมเปิ้ลสีแดงๆ  หลังกุมพาจะเริ่มเข้าหน้าร้อนใบไม้เปลี่ยนสีทางเดินจะแห้งๆ ใบไม้สีทองแต่อากาศยังเย็นๆ อยู่เมื่อหมดแดด  ซึ่งในครั้งนี้ผมจะมาเล่าถึงการไปภูกระดึงในหน้าฝน ที่ว่ากันว่าเดินยากสุด โหดสุด เต็มไปด้วยทาก แต่ก็แรกมากับอะไรบางอย่างจะเป็นอย่างไรไปดูกันครับ

ร่างกาย

แน่นอนการเดินทางขึ้นภูกระดึงต้องเดินเท้าเท่านั้นด้วยความสูงกว่า 1200 เมตร ในวันแรกต้องเดินขั้นต่ำ 9 กม.กว่าจะถึงบ้านพัก/ลานกางเต็นท์   ถามว่าจำเป็นต้องออกกำลังกายก่อนไปไหม จริงๆก็ไม่  มีหลายคนที่จู่ๆ เพื่อนก็ลากตัวไปโดยที่ไม่ทันเตรียมตัว ก็เดินพรวดๆ ถึงยอดภูได้  แต่ถ้าออกกำลังกายไปก่อนก็ดีหลายคนที่ไม่เคยออกกำลังกายเลย( สังเกตุได้จากเพื่อนในกลุ่มที่ร่วมเดินทางไปด้วย ) มีสิทธิ์ไปเป็นตระคริวกลางทาง ปวดขา ปวดแข้ง เมื่อเดินถึงลานกางเต้นท์ ทำให้เที่ยวต่อไม่สนุก  อย่างน้อยก็ squat อยู่บ้านขำๆล่วงหน้าซักเดือนก็ยังดี ส่วนตัวผมลองแล้ว squat  ช่วยได้จริงๆ ไม่มีอาการปวดเมื่อยใดๆ เมื่อเดินถึงลานกางเต้นท์ในวันแรก

สิ่งของ

หลายคนบอกว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดคือเงินนเตรียมไปเยอะๆ ข้างบนมีขายทุกอย่าง ไปตัวเปล่ายังได้เลย แต่สำหรับผมมองว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดเลยคือรองเท้าครับ   แน่นอนการเดินทางขึ้นภูมีแต่เดินกับเดิน ถ้าคุณเลือกรองเท้าไม่ดีพื้นบางไปพื้นหนักไป คุณจะเป็นทุกข์ในทุกๆก้าวที่คุณเดินแน่ๆ  มีหลายคนโดนรองเท้ากัดจนเล็บหลุด ถลอกปลอกเปิด หลายคนถอดรองเท้าเดินเท้าเปล่าเพราะทนการเสียดสีไม่ไหว  ส่วนตัวผมแนะนำว่าควรมี 2 คู่  รองเท้าหุ้มส้นสำหรับเดินขึ้น-ลง  รองเท้าลำลองสบายๆ สำหรับเดินบนภู  รองเท้าสำหรับตอนขึ้น-ลงภู ควรเป็นรองเท้าที่ใส่สบายที่สุดพื้นควรหนา มีน้ำหนักเบา ถ้าเป็นช่วงหน้าหนาว-หน้าร้อนใส่รองเท้าวิ่งไปเลยครับเดินสบายๆนุ่มๆ แต่ถ้าเป็นช่วงเปิดภูใหม่ๆในหน้าฝน รองเท้าวิ่งเอาไม่อยู่ ทางเดินมันโครตตลื่นครับ แนะนำเป็นรองเท้าเดินป่าหุ้มข้อหรือสตั๊ดดอยจะเดินได้มั่นใจกว่าครับ

การป้องกันทากถ้าไปช่วงเปิดภูใหม่ๆ หรือช่วงฤดูฝน เลี่ยงทากไม่ได้แน่ๆ ยังไงก็เจอ  ถ้า Search วิธีกันทากภูกระดึงจะมีหลายสูตรมาก บ้างก็บอกว่าใช้ถุงกันทาก บ้างก็บอกใช้ยาสูบ  น้ำมันมวยบ้าง ปูนขาวบ้างส่วนตัวผมไปเดินภูหน้าฝนมา 5-6 ครั้ง  ลองมาหมดแล้วโดนกัดมาแล้ววิธีที่กันได้ดีที่สุดสำหรับผมคือ ซอฟเฟลสีชมพู ฉีดชุ่มๆที่รองเท้า และขากางเกง กันทากได้ค่อนข้างดีผมไม่โดนเกาะเลยซักกะตัว  ส่วนปูนขาวเป็นอะไรที่เสียดายเงินมากๆ  คนส่วนใหญ่นิยมซื้อมาโรยรอบเต้นท์  ผมเองก็ลองแล้วก็ได้เห็นเจ้าทากมันดึ้บๆผ่านปูนขาวเหมือนทากชุปแป้งทอด โดยไม่เป็นอะไรเลยยังดึ๊บๆ มาเกาะขาผมได้อีกน่ะ

อย่างอื่นที่แนะนำว่าควรติดตัวไป ไฟฉาย, ยาคลายกล้ามเนื้อ สำหรับมือใหม่หัดเดินไม้เท้าเดินป่านี่ก็สำคัญช่วยเซฟหัวเข่ากันลื่นได้  จริงๆก่อนขึ้นภูทางเจ้าหน้าที่ก็มีไม้ไผ่เตรียมให้นะครับ แต่ส่วนตัวผมว่ามันใช้งานลำบาก มันหนักเป็นภาระ เจ็บมืออีก ไม้เท้าดีๆ สมัยนี้ขายกันสองสามร้อยเอง (แนะนำของ Decathlonครับ)

ออกเดินทาง

การเดินทางมาภูกระดึงก็แล้วแต่สะดวก บางคนนั่งเครื่องบินมาลงขอนแก่น บางคนถนัดขับรถมาเอง(มีที่จอดเยอะ) บางคนรวมตัวกันเหมารถตู้มา แต่สำหรับผมแนะนำรถทัวร์นี่ละครับ สบายที่สุด นอนบนรถยาวๆ ตื่นมาก็เช้ามืดพร้อมเดินขึ้นภูพอดี  รถทัวร์ส่วนใหญ่จะออกจากหมอชิตช่วงหัวค่ำ  ถึงจุดจอดผานกเค้า(ร้านเจ๊กิม) ประมาณ เช้ามืด ค่ารถทัวร์ 300กว่าบาท จนถึง 6-700 แล้วแต่คลาสของรถ  ลงรถที่ผานกเค้า แล้วต่อสองแถวแดงคนล่ะ 30 บาท  ต้องรอจนครบ 10 คนรถถึงออก  ( ช่วงโควิดคนละ 50 บาทเพราะต้องเว้นระยะห่างรถขึ้นได้แค่ 6คนต่อคัน ) หรือใครวัยรุ่นใจร้อนจะเหมายกคัน 300 ให้ไปส่งที่อุทยานก็ได้ครับ 

ที่ทำการอุทยาน

เมื่อเดินทางเข้ามาในอุทยานผ่านรถสองแถวแดง รถสองแถวจะจอดให้เราได้ชำระค่าธรรมเนียมอุทยานที่ทางเข้าคนละ 40 บาท  (ต้องเก็บตั๋วดีๆนะครับ เพราะเดี๋ยวเราต้องแสดงตั๋วนี้อีกที ที่ทางขึ้นภู )  เสร็จแล้วรถจะมาจอดที่ทำการ  นักท่องเที่ยวต้องมาติดต่อและชำระเงินค่าที่พักบริเวณนี้ครับ ถ้ามานอนเต้นท์วันธรรมดาไม่จำเป็นต้องจองครับ เดินเข้ามาติดต่อจ่ายตังค์ได้เลย แต่ถ้ามาวันหยุดยาว หรือเทศกาลควรจองนิดนึง ผ่านหน้าเว็บ หรือแอพQuqQ ก็แล้วแต่สะดวกครับ

สมัยก่อนคนนิยมนั่งรถทัวร์มาลงที่ร้านเจ๊กิมแล้วกินข้าวอาบน้ำที่ร้าน แล้วค่อยขึ้นรถสองแถวไปอุทยาน แต่ผมแนะนำว่าลงรถทัวร์แล้ว ให้ขึ้นรถสองแถวมาอาบน้ำที่อุทยานเลยจะดีกว่าครับ ห้องน้ำที่อุทยานสะอาดมากกกกก มีหลายจุด มีร้านอาหารให้เลือกเยอะ

กรณีนำเต้นท์มาเอง ค่าพื้นที่กางเต็นท์ 30 บาท/คืน/คน   

กรณีเช่าเต้นท์ของอุทยาน 225 บาท ต่อคืน (นอนได้ 2-3 คน)  

ค่าประกันคนล่ะ 10 บาท (ไม่บังคับ)  

ค่าเช่าหมอน/ถุงนอน/ที่รองนอน ไม่แพงครับประมาณ 10-30 บาท ต่อคืน  

ค่าลูกหาบของ กิโลล่ะ 30 บาท 

บนภูมีบ้านพักด้วยนะครับ หลายหลังเลย แต่ส่วนตัวผมจองไม่เคยทันซักกะทีพอจะไปทีไรเต็มตลอด ส่วนใหญ่ว่างแต่วันธรรมดา

hdr

เริ่มเดินขึ้น

ภูกระดึงเปิดให้นักท่องเที่ยวขึ้นแค่ช่วงเวลา 8.00-14.00 น. แต่บางครั้งผมมาตั้งแต่ 7 โมงเค้าก็ให้ขึ้นได้แล้วน่ะเห็นบางคนมาหลัง 14.00 บางทีก็ให้ขึ้น คิดว่าจนท. เค้าคงดูตามความเหมาะสม ตามสถาณการณ์ ตรงซุ้มทางเข้าจะมี จนท.คอยตรวจตั๋วค่าผ่านประตูของอุทยานที่รถสองแถวแวะจอดให้พวกเราซื้อ ใครทำหายต้องซื้อใหม่ 40 บาท

ตรงจุดนี้เราต้องลงชื่อในสมุดบันทึกด้วยครับ ว่ามากี่คน ชื่ออะไร พักกี่คน บ้านอยู่ไหน ตรงขั้นตอนนี้ถ้ามาสายจะค่อนข้างเสียเวลา เพราะสมุดมีเล่มเดียว คนต่อคิวเขียนกันยาวเลย แนะนำให้ขึ้นเช้าๆดีที่สุดครับ ส่วนระยะทางและที่พักร้านอาหารตามซำต่างๆ ตามรูปด้านล่าง

รวมๆ เราต้องเดินในทางชันประมาณ 5.5 กิโลจนถึงหลังแป และเดินทางเรียบๆ จากหลังแปไปจุดที่พักประมาณ 3.5 กิโล รวมวันแรกต้องเดินแน่ๆ 9 กิโล ถ้าฟิตๆหน่อยก็เดินชิวๆ ประมาณ3 ชม.ครับ แต่บางคนลากไป6-7 ชม.ก็มีนั่นละฮ่ะ

เส้นทางบนภูกระดึง ในช่วงตค.-พย.จะเจอต้นไม้เขียวๆ ฝนปรอยๆ  ทางแฉะๆ  หมอกจางๆ มีให้เห็นตลอดทาง  ร้านอาหารและห้องน้ำ(ที่ไม่มีน้ำ) มีในบางจุด  เส้นทางเดินไม่ยากแต่ก็ไม่ง่าย ส่วนที่ชันและเรียกเหงื่อได้เยอะสุดน่าจะเป็นช่วงปางกกค่าถึงซำแฮ่ก   ส่วนทางที่เดินลำบากและค่อนข้างชันช่วงจะเป็นช่วงซำกกโดน ถึงหลังแป ทางเดินช่วงนี้ส่วนใหญ่เป็นก้อนหินใหญ่ๆ ต้องมีปีนป่ายกันเล็กน้อย  และจุดพีคคคคที่สุดน่าจะเป็นบันไดมรณะ(นักท่องเที่ยวเรียกกัน) เป็นบันไดก่อนขึ้นไปหลังแป ที่น่าจะชันที่สุดที่เคยขึ้นมาแล้วมั้ง ต้องใช้ความระมัดระวังค่อนข้างสูง บวกกับระยะทางที่เราเดินมา 5 กิโลกว่าๆ เรียกได้ว่ามีขาสั่นพรั่บๆๆ ในขณะขึ้นกันทุกคน

หลังแป

เมื่อผ่านเจ้าบันไดมรณะขึ้นมาจะเจอป้ายที่เราคุ้นตา  ผมว่าน่าจะทุกคนต้องมาถ่ายรูปกับป้ายนี้ ขนาดส่วนตัวผมที่คิดว่ามันเกร่อมากๆ  ก็ยังอดที่จะถ่ายคู่กับป้ายไม่ได้ป้ายนี้มันเลยทำหน้าที่เหมือนใบ certificate ไปโดยอัตโนมัติตรงจุดป้ายนี้จะมีร้านค้า จนท.เล็กๆ ใว้ขายน้ำบริการนักท่องเที่ยว

มีม้านั่งยาวๆ ที่แสนจะธรรมดา แต่พอได้นั่งหลังจากเดินมา 5กิโลกว่าๆแล้ว ความรู้สึกมันสบายเหมือนนอนบนโซฟาแพงๆกันเลยทีเดียว ซึ่งจากหลังแปนี้เราต้องเดินไปบนทางเรียบๆ  นุ่มๆ บนดินทราย ที่เต็มไปด้วยใบสนอีกราวๆ 3.5 กิโลเมตร เป็นทางตรงดิ่ง ที่ไม่มีร้านค้า ไม่มีจุดพักไม่มีห้องน้ำ ไม่มีไรเลยนอกจากวิวสวยๆข้างทาง

ศูนย์บริการวังกวาง

หลังจากเดินมากันกว่า 9 กิโล จะพบกับศูนย์บริการวังกวาง ที่นี่เหมือนเป็นโอเอซิสบนภูกระดึง มีแทบจะทุกอย่างจริงๆ ร้านค้าเยอะ ห้องน้ำเยอะ  ลานกางเต้นท์กว้างขวางเมื่อมาถึง คนที่ต้องการจะเช่าที่นอนหมอนผ้าห่มให้มาเช่าตรงศูนย์บริการ+จ่ายเงินตรงนี้เลยครับ  ถ้าเป็นช่วงวันหยุดยาวแนะนำให้ติดต่อเช่าทันทีเลยเมื่อมาถึงกันของขาด  ในจุดนี้จะมีบริการชาร์ตแบตอุปกรณ์ไฟฟ้าด้วยนะครับ ค่าบริการ 20-40 บาท

เมื่อเดินถึงศูนย์บริการวังกวางและลานกางเต้นท์แล้ว สำหรับคนที่นำเต้นท์มาเองแบบผม แนะนำให้รีบหาที่กางเลยครับ ลานกางเต้นท์กว้างใหญ่ก็จริง แต่จุดที่เหมาะสมกับการกางจริงๆมีน้อยมาก ส่วนใหญ่พื้นจะเป็นแอ่ง มีน้ำขัง พื้นไม่เรียบ ถ้าฝนตกมาไม่อยากจะคิด ซึ่งมาในเดือนตุลายังไงก็เจอฝนแน่ๆ มีหวังได้นอนในน้ำ  และแน่นอนถ้ามาช่วงหน้าฝน พื้นที่กางเต้นท์จะเต็มไปด้วยน้องทากอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  แนะนำให้เลี่ยงส่วนที่เป็นพื้นหญ้าแฉะๆ พยายามหาพื้นดินเรียบๆ ส่วนตัวผมก็ไม่รอด กางเต็นท์เสร็จต้องรีบมุดเข้าเต้นท์ นอนดูน้องทากไต่บนหลังคาเต้นท์อย่างเพลิดเพลิน

สำหรับกิจกรรมในวันแรกเมื่อมาถึงวังกวาง นอกจากตะเวนเดินหาของกินแล้ว ถ้าเดินไหวอยากจะแนะนำให้เดินไปดูพระอาทิตย์ตกที่จุดชมวิวผาหมากดูก  ระยะทางไป-กลับรวมประมาณ 5 กิโล ส่วนตัวผมคิดว่าคุ้มกับการเดิน วิวสองข้างเป็นต้นสนสวยๆ สูงๆ มีทางน้ำไหลเล็กๆ (ในฤดูฝน) ทางเดินเป็นดินปนทรายเดินสบายเท้า  ไม่ค่อยมีน้องทาก  ใส่รองเท้าแตะเดินได้ชิวๆ ครับ

oznorCO

  เช้าวันแรกบนภูกระดึง

5.00 น. จนท.อุทยานจะประกาศออกลำโพง ให้นักท่องเที่ยวที่สนใจ จะเดินไปดูทะเลหมอกและพระอาทิตย์ขึ้นที่ผานกแอ่น ให้มารวมตัวกันตรงศูนย์บริการ ห้ามเดินไปเองเด็ดขาด เพราะบางทีอาจจะไปเจอช้างป่ากลางทางได้ครับ (ช้างป่าบนภูกระดึงอันตรายมากนะครับทำเป็นเล่น  เหยียบคนตายไปหลายคนแล้ว)

เมื่อนักท่องเที่ยวรวมกลุ่มได้แล้ว จนท.ก็จะนำฉายไปเดินพาไป เราเองก็ควรพกไฟฉายติดไปด้วยนะครับ เส้นทางที่เดินไปไม่มีไฟซักกะดวง ลำพังหวังพึ่งแสงจากไฟฉายของ จนท.คงไม่เพียงพอ  ระยะทางเดินก็ไม่ใกล้ไม่ไกล ไป-กลับราวๆ 4 กม. ส่วนตัวผมว่าคุ้มค่าที่จะตื่นและเดินมาดูครับ  ยิ่งถ้ามาช่วงหน้าฝนมีโอกาสได้เจอทะเลหมอกที่อลังการสูงมาก

ที่สำคัญ เส้นทางจากวังกวางไปผานกแอ่นระหว่างทาง มีพันธุ์ไม้-ดอกไม้สวยๆ เยอะมากส่วนตัวผมไม่ค่อยมีความรู้เรื่องพันธุ์ไม้ซักเท่าไหร่ แต่เห็นช่างภาพมารโครชอบมารุมถ่ายกันที่เส้นนี้ คิดว่าน่าจะคงหายากละมั้ง

เดินและเดิน

เมื่อเดินกลับมาจากดูพระอาทิตย์ที่ผานกแอ่นแล้ว ภูกระดึงจะมีเส้นทางให้เลือกเดินหลักๆ แบ่งเป็น 2 เส้น คือเส้นเดินไปชมน้ำตก  และเส้นเดินไปชมวิวเลียบหน้าผา  แต่นักท่องเที่ยวก็สามารถเดินไปชมน้ำตกใกล้ๆ ก่อนแล้วค่อยเดินตัดไปเส้นชมหน้าผาได้นะครับ ซึ่งเป้าหมายของคนที่มาภูกระดึงส่วนใหญ่ในวันที่ 2 นี้ คือผาหล่มสัก รูปถ่ายตัวเองนั่งบนหินที่ยื่นออกไป มีฉากหน้าเป็นใบสน ฉากหลังเป็นท้องฟ้า เปรียบเหมือนใบ certificate ระดับ Advance บนภูกระดึง ถถถถ

การเดินทางไปผาหล่มสักมีอยู่  3 วิธีครับ วิธีแรกคือเดินนนนนน เดินอย่างเดียว เดินเท่านั้น ไป-กลับเกือบ 20 กม. ถ้าแวะไปดูน้ำตกก่อนก็บวกเพิ่มไปอีก 2-6 กม.  วิธีที่ 2 คือเช่าจักรยาน มีให้เลือกเยอะแยะ ราคาตั้งแต่ 2-400 บาท แต่ในหน้าฝนผมไม่ค่อยแนะนำครับ ทางเดินแฉะ ลื่นมาก ส่วนจะได้เข็นมากกว่าปั่นและอีกวิธีคือการ รอรถอีแต๊ก รถไถ นั่งไปกับ จนท. อันนี้แล้วแต่ดวงครับ นานๆ ผมจะเห็นวิ่งผ่านมาซักคันแล้วเดินต่อไปอีกซักนิด

ส่วนตัวแนะนำให้เดินครับ มาในหน้าฝนเราจะเจอกับทางเดินหมอกๆสวยๆ ต้นไม้เขียวๆ อากาศชื้นๆเย็น ๆ เส้นหน้าผามีร้านค้าตลอดทาง แต่ถ้าไปช่วงเปิดภูใหม่ๆ บางร้านอาจจะยังไม่เปิด เนื่องจากช่วงปิดภูบางร้านโดนช้างเจ้าถิ่นบุกมาพังร้าน ซ่อมแซมกันไม่ทัน แต่ไม่ต้องห่วงครับ ขอให้เดินทางไปถึงผาหล่มสัก มีของกินให้เลือกมากมาย

ผาหล่มสัก

หลังจากเดินชมหน้าผา ชมหมอก ชมนกชมไม้มาเรื่อยๆ ราวๆ 9กิโลนิดๆ เราก็มาถึงผาหล่มสัก เดินแบบไม่รีบแวะกินข้าวถ่ายรูป เที่ยงๆ ก็น่าจะถึง ที่ผาหล่มสักมีร้านกาแฟสดให้เลือก 2-3 ร้าน มีร้านดังที่คนแห่ไปกิน

แต่สำหรับผมแนะนำให้ลองเลือกทานร้านอื่นๆดูบ้างครับ อร่อยไม่แพ้ร้านดัง แน่นอนครับมาถึงผาหล่มสักสำหรับคนที่เดินเท้าควรนั่งพักยาวๆ ครับ เพราะเดียวเราต้องเดินกลับอีกเกือบ 10 โล หลายคนนั่งกันจนถึงเย็นรอชมพระอาทิตย์ตก  แต่ก็ต้องเสี่ยงกับการเดินกลับในตอนมืดๆ ถ้าไปวันหยุดไม่น่าจะมีปัญหา คงมีเพื่อนเดินกลับด้วยเยอะ แต่ถ้ามาวันธรรมดาไม่ค่อยแนะนำเท่าไหร่ 

ลงภูกระดึง

สำหรับท่านที่จะใช้บริการลูกหาบในขาลงแนะนำให้จองคิวล่วงหน้านะครับ และควรไปฝากของตั้งแต่ 7โมงเช้า ถ้าโชคดีอาจจะได้รับของที่ด้านล่างเร็วสุดประมาณบ่ายโมง  ส่วนตัวผมชอบเดินลงตอนเช้าๆ คนน้อยไม่มีแดดเจอหมอกสวยๆ ตลอดทาง  สิ่งสำคัญที่สุดในตอนลงภูกระดึง คือไม้เท้าเนี่ยละครับ มันจะช่วยซับแรงกระแทกที่หัวเข่าได้ดีมากๆ  ตอนขึ้นว่าเหนื่อยแล้ว ตอนลงผมว่าเหนื่อยกว่า 2 เท่า ยิ่งในหน้าฝนทางเละๆ ลื่นๆ

ต้องใช้ความระมัดระวังสูงมากครับ  สำหรับท่านที่จองตั๋วรถทัวร์ควรเพื่อเวลาใว้ ซัก 4-5 ชม. ถ้าจองรอบบ่ายสองควรลงตั้งแต่ 8 โมงเช้า  เพื่อเวลาอาบน้ำอาบท่า ที่ด้านล่างอุทยาน และเพื่อเวลาใว้สำหรับรอรถสองแถว รถแดง เพื่อไปต่อรถทัวร์ที่ผานกเค้าด้วยนะครับ  รถสองแถวถ้าคนไม่เต็มก็ไม่ยอมออก ถ้าเราไม่เหมา 300บาท



สำหรับค่าใช้จ่ายคร่าวๆ ในการเดินภู 3 วัน 2 คืน

ค่ารถทัวร์ไป-กลับจากหมอชิต 1000 บาท

ค่ารถสองแถวไป-กลับ 100 บาท (ช่วงโควิด)

ค่าเข้าอุทยาน 40 บาท

ค่ากางเต็นท์ 2 คืน 60 บาท

ค่าเช่าที่นอน หมอน ผ้าห่ม 2 คืน 120 บาท

ค่าอาหาร 8 มื้อ 700 บาท

ค่าขนม/ค่าน้ำ/ค่ากาแฟระหว่างทาง 500 บาท

รวม 2520 บาท โดยประมาณครับ (ของแบกเอง)

,,

ภูกระดึง แม้ไม่ใช่เส้นทาง Treaking ที่โหดที่สุด หรือสวยที่สุด แต่สำหรับผมมันเป็นหนึ่งในสถานที่ที่มีเสน่ห์มากที่สุด ไม่แปลกใจที่มีหลายคนมาซ้ำแล้วซ้ำอีก บางคนมาทุกปี ยังไงหากท่านไหนยังไม่เคยไป แนะนำให้ลองซักครั้งนะครับ

Share the Post:

Related Posts

บ้านกร่างแคมป์ เมืองหลวงของนักดูนก

“การดูนก คือจุดเริ่มต้นของการอนุรักษ์ “ ประเทศไทยมีนกกว่า 1,078  ชนิด ทั้งนกประจำถิ่น,นกอพยพ แต่ที่บ้านกร่างแคมป์ที่เดียวเราสามารถพบนกได้กว่า 400 ชนิด และพบกว่า 545ชนิดในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ซึ่งถือว่าเกินครึ่งนึงของนกที่พบในประเทศไทย  ฉะนั้นไม่แปลกใจเลยที่นักดูนกทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ถึงได้เรียกที่นี่ว่าเป็นเมืองหลวงของนักดูนก บ้านกร่างแคมป์ตั้งอยู่นอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี แคมป์นี้ตั้งอยู่ใจกลางป่าห่างจากที่ทำการอุทยาน 30 กม. หลายคนอาจได้ยินชื่อนี้จากภาพฝูงผีเสื้อที่บินกันเป็นร้อยเป็นพันๆ

Read More

นอนค้างคืนในป่ากุยบุรี ซาฟารีเมืองไทย

“ช้างป่าควรอยู่ในป่า เพียงแต่ต้องทำให้ป่านั้นมีอาหารช้างเพียงพอ การปฏิบัติคือให้ไปสร้างอาหารช้างในป่าเป็นแปลงเล็กๆ และกระจาย กรณีช้างป่าออกมาที่ชายป่า ต้องให้ความปลอดภัยกับช้างป่า” พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ต่อการจัดการความขัดแย้งคนกับช้างป่า อุทยานแห่งชาติกุยบุรี กว่าจะเป็นกุยบุรี ในอดีตเดิมทีบนพื้นที่แห่งนี้ มีข่าวการขัดแย้งกันระหว่างคนกับช้างเกิดขึ้นบ่อยๆ ช้างถูกล่าเอางา ถูกยิง ถูกวางยา ไฟช็อตล้มลงหลายต่อหลายครั้ง   บางครั้งก็เป็นชาวบ้านเองที่ถูกช้างป่าทำร้าย เนื่องจากปัญหาของพื้นที่อยู่อาศัยของช้างกุยบุรีลดน้อยลง ถูกถางและบุกรุกเป็นพื้นที่เกษตร 

Read More

CONTACT

I will get back to you as soon as possible.